สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือ สปป.ลาว ประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิด ติดเขตรั้วทางตะวันออก-เหนือ ของไทยเรา ได้เข้าเป็นสมาชิกน้องใหม่ ลำดับที่ 158 ขององค์การการค้าโลก หรือ ดับเบิลยูทีโอ อย่างเป็นทางการแล้ว ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 2 ก.พ. ที่ผ่านมา หลังจากใช้เวลาเจรจาต่อรองยาวนานถึง 15 ปี ก่อนหน้านี้เราเคยพูดถึงประเทศลาว ในฐานะ “บ้านพี่เมืองน้อง” โดยที่ไม่รู้ว่าคำ ๆ นี้คนลาว โดยเฉพาะยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ในปี พ.ศ. 2518 “ไม่พอใจเป็นอย่างมาก” ถือเป็นคำพูดดูถูกดูแคลน ข่มเหง ไทยประเทศใหญ่กว่า และมีความเจริญกว่าทางด้านวัตถุ มองลาวล้าหลัง เป็น “ลูกไล่” หรือ “ลูกน้อง” อะไรทำนองนั้น จำได้ว่า คณะสื่อมวลชนลาวที่มาเยือนประเทศไทยเมื่อหลายปีก่อน เคยหยิบยกเรื่องนี้พูดจากันตรง ๆ ในที่ประชุมพบปะ โดยขอร้องไม่ให้สื่อไทยเรียกลาวเป็น “บ้านพี่เมืองน้อง” อีกต่อไป เนื่องจากไทยกับลาวมีเกียรติและศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน ไม่มีใครยิ่งใหญ่หรือด้อยกว่า ก็ขอเรียนให้ท่านผู้อ่านที่อาจจะยังไม่ทราบได้รับรู้ตามนี้ การได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก จะทำให้ลาวที่ไม่มีดินแดนติดทะเล (ไม่ใช่ไม่มีทางออกสู่ทะเล เพราะล่องแม่น้ำโขง ผ่านกัมพูชาและเวียดนาม ออกสู่ทะเลทางใต้ได้ หรือข้ามแดนเวียดนามไปออกทะเลทางตะวันออกก็ได้) เพิ่มโอกาสที่จะติดต่อค้าขายกับโลกกว้างได้มาก และสะดวกยิ่งขึ้น ปัจจุบันลาวเป็นเพียง 1 ใน 4 ประเทศของโลก ที่ยังเหนียวแน่นอยู่กับการปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ โดยอีก 4 ประเทศได้แก่ จีน เกาหลีเหนือ และคิวบา แต่ทุกประเทศหันหน้าเข้าหาทุนนิยมกันหมดแล้ว เนื่องจากพิสูจน์ชัดแล้วว่า แนวทางสังคมนิยมทำให้ประเทศชาติล้าหลัง แม้หลักการจะดี คือประชาชนทุกคนมีอยู่มีกินเท่าเทียมกัน แต่ความเป็นจริงที่เห็นคือ ประชาชนส่วนใหญ่ยากจนถ้วนหน้า มีอยู่มีกินและร่ำรวย (แบบลับ ๆ) เฉพาะระดับผู้นำและญาติพี่น้องบริวารเท่านั้น จีนพี่ใหญ่เข้าตำรับลัทธิ หันเข้าหาทุนนิยมก่อนเพื่อน โดยเริ่มปรับในยุค เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำรุ่นที่ 2 ของจีนยุคใหม่ต่อจาก เหมา เจ๋อตง ปรากฏว่า ปัจจุบันจีนเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา ความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจแท้จริงของแผ่นดินใหญ่ ยังเหลือแค่การแก้ไขปัญหาการกระจายรายได้ ยกระดับรายได้เฉลี่ยของประชาชนต่อหัวต่อปีให้สูงกว่านี้อีกหลายขีด เกาหลีเหนือกับคิวบาตอนแรกก็ยืนหยัดต่อต้านทุนนิยมหัวชนฝา แต่พอประชาชนซึ่งอดอยากทุกหัวระแหง มองเห็นความเจริญและการอยู่ดีกินดีของโลกภายนอก จากข่าวสารของสื่อยุคใหม่ กระแสต่อต้านอำนาจรัฐจึงเริ่มรุนแรง และทรงพลังมากขึ้นทุกที รัฐบาลจึงต้องจำยอมปฏิรูป หันเข้าหาทุนนิยม แบบค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป 2 ประเทศนี้เพิ่มจะเริ่ม ถือว่าค่อนข้างจะสายเกินไป ส่วนลาวแม้จะเป็นคอมมิวนิสต์แต่ก็เป็นแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ ไม่สุดโต่งเข้มงวดแบบเกาหลีเหนือกับคิวบา การทำมาค้าขายทั้งภายในประเทศ และกับประเทศเพื่อนบ้านรอบข้าง ก็ดำเนินไปตามปกติ แม้จะมีอุปสรรคบ้าง จากข้อจำกัดของกฎเกณฑ์ที่ไม่สอดคล้องกัน ในทางการเมือง ก่อนหน้านี้ลาวถูกจีนกับเวียดนามแข่งขันกันล็อบบี้ เพื่อดึงเป็นพันธมิตร ปรากฏว่า ชัยชนะตกเป็นของฮานอย ส่วนกับไทยลาวไม่เอาด้วย จากหลายปัญหา รวมทั้งที่กล่าวมาตอนต้น แต่การค้าขายทั้ง 3 ประเทศผูกพันกับลาวมากที่สุด และคาดว่าจะได้ประโยชน์จากลาวมากกว่าใครเพื่อน จากการที่ลาวเข้าเป็นสมาชิกดับเบิลยูทีโอ จากข้อมูลของทางการ ระหว่างปี พ.ศ. 2543–2554 เวียดนาม-จีน-ไทย เป็น 3 ประเทศนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดในลาว โดยตัวเลขของเวียดนามอยู่ที่ 4.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จีน 3.4 พันล้านดอลลาร์ และไทย 2.8 พันล้านดอลลาร์ ส่วนประเทศอื่น ๆ ไม่มีประเทศไหนลงทุนในลาวเกิน 600,000 ดอลลาร์ การได้เป็นสมาชิกของดับเบิลยูทีโอ จะทำให้ลาวมีโอกาสที่ดีกว่า ในการเจรจาต่อรองเพื่อข้อตกลงที่เป็นธรรมมากขึ้น และยังจะทำให้ลาวได้เข้าถึงกลไกตกลงระงับข้อพิพาท ที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทรัพยากรทางธรรมชาติของลาวมีอยู่มากมาย ที่ยังรอการเก็บเกี่ยวใช้ประโยชน์ อุตสาหกรรมส่วนนี้ถูกจับตามอง หวังเข้าไปมีส่วนลงทุนจากทั่วโลก สภาหอการค้ายุโรปถึงกับเรียกว่า “แกนของการพัฒนาแห่งทศวรรษหน้า” เลยทีเดียว และการเข้าเป็นสมาชิกดับเบิลยูทีโอของลาว จะทำให้ 3 ประเทศขาใหญ่เจ้าเก่า ใช้อำนาจอิทธิพลเอาเปรียบลาวได้ยากยิ่งขึ้น.
เลนซ์ซูม
thaidailynews.co.th
ກ່ອນປີ 1975 ລາວ-ໄທ ເປັນບ້ານອ້າຍເມືອງນ້ອງ, ຫຼັງປີ 1975 ລາວ-ວຽດນາມ ກິນເຂົ້າເມັດຫັກ ກິນຜັກເສັ້ນແບ່ງ.
ນີ້ແມ່ນນະໂຍບາຍການເມືອງທີ່ຜິດພາດຂອງຣັຖບານລາວ !
ການທີ່ລາວໄດ້ເຂົ້າເປັນສະມາຊິກການຄ້າໂລກ ບໍ່ໄດ້ໝາຍຄວາມວ່າເສດຖະກິດລາວຈະພຸ້ງຂຶ້ນສູ່ທ້ອງຟ້າໃນທັນຕາ
ຢ່າງນ້ອຍກໍ່ຕ້ອງໃຊ້ເວລາວ 30 ປີຂຶ້ນໄປ.